บรอดแบนด์ไร้สาย ประสบการณ์ดิจิตอลที่ต้องรอ




ผ่าทางตัน ลดช่องว่างการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เอกชนไทยเชื่อบรอดแบนด์ไร้สายทางออกของประเทศก้าวสู่เศรษฐกิจบรอดแบนด์เต็มตัว

ดัชนีวัดศักยภาพการแข่งขันของประเทศในวันนี้ ไม่ได้อยู่ที่ว่า ประเทศใดมีจีดีพีสูงกว่ากันแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป เนื่องจากวันนี้ การเข้าถึงบรอดแบนด์ของคนในประเทศกำลังกลายเป็นขุมทรัพย์ทางเศรษฐกิจใหม่ที่ทุกประเทศจะต้องให้ความสำคัญ

ดังจะเห็นได้จากการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเชีย-แปซิฟิกที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย กลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่มีแถลงการณ์ว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจบรอดแบนด์ รวมทั้งแผนปฏิบัติการในการดำเนินการเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายต่างๆ

ครั้นมองกลับมาถึงเมืองไทย เมื่อตรวจดูถึงความพร้อมการก้าวสู่เศรษฐกิจบรอดแบนด์จะพบว่า ขณะนี้มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ประมาณ 17 ล้านคน มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ประมาณ 11 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 13.5 ล้านคนเมื่อถึงสิ้นปีนี้ คิดเป็น 21% ของประชากร

จากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตดังกล่าว คาดว่าเป็นผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ประมาณ 3.7 ล้านราย ใช้บริการอินเทอร์เน็ตที่เป็น Narrowband ประมาณ 1.3 ล้านราย ใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านเทคโนโลยี จีพีอาร์เอส 0.8 ล้านราย และใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนและพีดีเอโฟนอีกประมาณ 0.2 ล้านราย

ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่คณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลไทยกระตุ้นให้คนไทยสามารถเข้าถึงบรอดแบนด์ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ โดยวางเป็นนโยบายให้เติบโตมากขึ้นหรือเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากภาคการศึกษาจำเป็นต้องใช้บริการชนิดนี้ อย่างยิ่งเพราะอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาให้ทัดเทียมกับต่างชาติได้

"หากบรอดแบนด์มีการขยายตัวจะทำให้เกิดห่วงโซ่ทางธุรกิจอีกหลายชั้น เช่น การทำธุรกรรม บริการเว็บไซต์ การสร้างสังคมออนไลน์ และอื่นๆ"

ศุภชัย กล่าวว่า หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเกิดขึ้นเร็วมาก มีการพัฒนาเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ตความเร็งสูงผ่านโครงข่ายไฟเบอร์ออปติกหรือโครงข่ายใยแก้วนำแสง ทำให้อินเทอร์เน็ตมีบริการที่คุณภาพสูงขึ้นและให้บริการได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ถึงแม้การเติบโตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของประเทศไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ศุภชัยยังมองว่า หากเปรียบเทียบจำนวนผู้ใช้บรอดแบนด์กับจำนวนประชากรว่าในไทยยังถือว่าต่ำกว่าประเทศเวียดนาม ขณะที่จีนมีผู้ใช้ถึง 90 ล้านราย แซงสหรัฐอเมริกาที่มีผู้ใช้บรอดแบนด์อยู่ที่ 80 ล้านราย และถ้าจีนดำเนินการติดตั้งระบบ 3จี และ 4จี เสร็จภายใน 2 ปี จะทำให้การเข้าถึงบรอดแบนด์ขั้นพื้นฐานของจีนสูงมาก ส่วนเกาหลีมีผู้ใช้บรอดแบนด์สูงถึง 99%

ศุภชัย บอกอีกว่า ปัจจัยที่ทำให้คนไทยเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงยังมีไม่มาก เป็นผลมาจากคนไทยยังมีคอมพิวเตอร์และโครงข่ายที่ให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตยังไม่ทั่วถึง ดูได้จากโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานมีการใช้งานทั้งหมดประมาณ 4 ล้านเลขหมาย จากจำนวนประชากร 19 ล้านครัวเรือน ส่วนโทรศัพท์มือถือที่มีการใช้จีพีอาร์เอส ก็มีแค่หลักแสนเท่านั้น

สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในวงกว้างได้

"หากมีการลงทุนด้านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะสามารถเสริมสร้างผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพีได้กว่า 1.38% และถ้าคนไทยมีการเข้าถึงบริการได้ ภายใน 5 ปีจะมีเม็ดเงินในตลาดนี้สูงถึง 8 แสนล้านบาท"

แหล่งข่าวที่คลุกคลีในวงการโทรคมนาคมท่านหนึ่งมองว่า บรอดแบนด์ไร้สายผ่านทางเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3จี มีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้คนไทยตามส่วนต่างๆ ของประเทศ มีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็ว เร็วกว่าการลงทุนโครงข่ายบนพื้นดินซึ่งถือเป็นการลงทุนที่สูงมาก ถึงแม้จะเป็นโครงข่ายที่มีเสถียรภาพมากกว่าก็ตาม

ความตื่นตัวในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เริ่มแพร่หลายมากขึ้น ภายหลังจากที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ลงทุนอัปเกรดเทคโนโลยีการส่งข้อมูลให้มีความเร็วที่สูงขึ้น ดังจะเห็นได้จากยอดจำหน่าย "เน็ตซิม" ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ซึ่งเป็นซิมพิเศษที่ทางเอไอเอสทำขึ้นมาเพื่อใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยในช่วงเดือนมีนาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา เอไอเอสสามารถจำหน่ายเน็ตซิมเพิ่มขึ้นถึง 147% เป็น 200,000 ราย

วิเชียร เมฆตระการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เคยเล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากที่มีเครือข่ายมือถือ 3จี ว่า สมมติถ้าเรามี 3จี ใช้จริงๆ ในแง่วงการโทรคมนาคมจะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องของการใช้งาน คนไทยก็จะมีทางเลือกในการเชื่อมอินเทอร์เน็ตได้เร็วขึ้น มากขึ้น ไม่ต้องอาศัยโครงข่ายมีสายอีกต่อไป การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนในชนบทจะดีขึ้น การส่งข้อมูลไร้สายจะรวดเร็วขึ้นมาก

ศุภชัย กล่าวว่า อุตสาหกรรมสื่อสารจะขยับตามภาวะเศรษฐกิจ ถ้า 3จี ไม่เกิด อุตสาหกรรมนี้จะไม่โต แต่ถ้าเทคโนโลยีนี้เกิดจะทำให้เกิดมิติใหม่ของอุตสาหกรรมเพราะจะทำให้คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลและเอกชนต้องร่วมมือกันเพื่อประยุกต์เรื่องของเทคโนโลยีกับโนว์ฮาวเข้าด้วยกัน แล้วให้เอกชนเป็นผู้ผลักดัน ขณะเดียวกัน หากภาครัฐให้การสนับสนุนเรื่องโน้ตบุ๊กก็จะทำให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้มีการใช้แบนด์วิธเกิดขึ้นจำนวนมหาศาล

"อุตสาหกรรมสื่อสารไทยมีอะไรให้ทำอีกมาก แต่ภาครัฐต้องมีความชัดเจนว่าต้องทำอย่างไรจะให้บรอดแบนด์เข้าถึงผู้บริโภค ถ้าเร่งเรื่องพวกนี้ได้จะทำให้สังคมไทยมีความยั่งยืนได้ ตอนนี้ต้องเร่งลงทุนโครงข่าย 3จี เพื่อเตรียมรับ 4จี ในอนาคตอันใกล้ ถ้าไม่มี 3จี เกิดขึ้นเอกชนก็รอได้ แต่ประเทศรอไม่ได้"

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น